ฝึกวินัย...หัวใจการใช้ชีวิต
บ่อยครั้งที่การใช้ชีวิตประจำวัน ต้องพบเจอคนหลายแบบหลายประเภททั้งดีและไม่ดี บ้างก็มีระเบียบวินัย ปฏิบัติตามกฎสังคมที่ตั้งไว้ แต่ก็มีบ้างแหละค่ะ คนประเภทที่ชอบแหกกฎ เน้นความสะดวกและไม่ค่อยนึกถึงคนอื่น ยิ่งในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ ด้วยแล้ว เราพบคนแบบนี้อยู่ทุกวัน ในเมื่อต้นแบบเป็นซะอย่างนี้แล้วเด็กๆ ของเราล่ะจะเป็นอย่างไร
ไม่แปลกใจเลยค่ะ เวลาออกนอกบ้านแล้วพาเจ้าตัวเล็กไปด้วย ต้องตอบคำถามลูกเรื่องนี้อยู่เรื่อยเชียว “ทำไมคนนั้นเขาไม่ต่อแถวละคะ”“ทำไมรถคันนั้นฝ่าไฟแดง” และอื่นๆ อีกมากมาย นอกจากจะต้องอธิบายกันแล้ว เพื่อให้ลูกของเราเติบโตไปอย่างไม่เบียดเบียนคนอื่นการปลูกฝังและฝึกฝน เรื่องวินัยให้เจ้าตัวเล็กในวันนี้คือสิ่งสำคัญที่สุด วินัย...พื้นฐานสำคัญของเจ้าตัวเล็ก หรือ
เด็กดีและเก่งอย่างเดียว อาจไม่ใช่คำตอบที่ดีพอสำหรับสังคมเราอีกต่อไป เพราะคุณภาพของอนาคตของชาตินั้น อยู่ที่การอยู่ในสังคมได้โดยไม่เบียดเบียนหรือสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ อื่น การปูพื้นฐานการมีวินัยตั้งแต่ยังเด็ก ช่วยให้สังคมเราดีขึ้นได้ค่ะ วินัย คำๆ นี้สอนให้เด็กๆ รู้จักการแสดงออกอย่างเหมาะสม ไม่มากไปไม่น้อยไป สอนให้รู้จักสิทธิของตัวเองและผู้อื่น สอนให้รู้จักหน้าที่และมีความรับผิดชอบต่อสิ่งที่ได้รับมอบหมายและสอนให้ รู้จักควบคุมตัวเอง รวมๆ แล้ววินัยก็คือ การเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันนั่นเอง
การสร้างวินัยให้กับลูก จึงเป็นรากฐานสำคัญสำหรับการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดี และส่งผลต่อรูปแบบการใช้ชีวิต ลักษณะนิสัย และการดำเนินชีวิตของเจ้าตัวเล็กเอง ซึ่งนั่นหมายรวมถึงความสามารถในการจัดการสิ่งต่างๆ ด้วยเช่นกัน ยิ่งในช่วง 1-3 ปีด้วยแล้ว นับเป็นปีทองของการเรียนรู้และเลียนแบบสิ่งต่างๆ รอบตัว ช่วงวัยนี้จึงเหมาะแก่การปลูกฝังและสอนให้ลูกรู้จักกับคำว่า วินัย
6 กิจกรรมฝึกวินัยจากสิ่งใกล้ตัว
สำหรับเด็กเล็กแล้ว อาจไม่ต้องมองไกลไปถึงเรื่องกฎระเบียบและข้อตกลงในสังคม เพราะดูจะไกลตัวเกินไป จะฝึกฝนเรื่องนี้ ควรเริ่มจากเรื่องใกล้ตัว เช่น กิจวัตรประจำวัน กิจกรรมที่ทำในแต่ละวัน นอกจากฝึกฝนได้ไม่ยากเย็นแล้ว ลูกได้ทำสิ่งนั้นซ้ำๆ ทุกวัน เกิดการจดจำที่ง่ายขึ้น จึงได้ผลดีกว่า
1. มื้ออาหาร เรื่อง ใหญ่ในชีวิตเรื่องหนึ่งที่ฝึกกันได้ เพียงกำหนดมื้ออาหารให้เป็นเวลาเพื่อให้ลูกคุ้นกับการตรงต่อเวลา กินอิ่มแล้วให้ลูกเก็บภาชนะของตัวเอง ช่วยเก็บโต๊ะอาหารสอนให้ล้างมือทั้งก่อนและหลักหม่ำข้าว รู้จักแปรงฟันหลังกินอาหาร ปลูกฝังเรื่องการรักษาความสะอาด
2. ถึงเวลานิทรา เช่นเดียวกับเรื่องอาหารการกิน ควรฝึกลูกให้นอนและตื่นเป็นเวลาให้ลูกรู้ว่าเวลาไหนควรเล่น เวลาไหนควรเข้านอนได้แล้ว สิ่งหนึ่งที่ช่วยได้คือ การใช้ห้องนอนสำหรับการนอน ไม่ควรทำกิจกรรมอื่นในห้องนี้ ตื่นนอนแล้วสอนให้ลูกรู้จักเก็บที่นอนของตัวเองทุกครั้ง
3. ทิ้งให้ถูกที่ บ่อย ครั้งที่เด็กๆ มักเลียนแบบพฤติกรรมของผู้ใหญ่เรา พอทำของตกพื้นเรามักจะนำไปทิ้งในถังขยะ เจ้าตัวเล็กที่สังเกตอยู่ เมื่อเห็นบ่อยเข้า ก็นำของที่ต้องลงถังไปทิ้งได้ถูกที่ แต่อาจจะต้องอาศัยการพูดคุยด้วยนะคะ เพื่อแนะนำพฤติกรรมให้ลูกทำได้อย่างถูกต้อง
4. เรื่องเล่นๆ ปฏิเสธ ไม่ได้ว่าของเล่นสำหรับเด็กๆ นั้น แต่ละบ้านคงมีอยู่ไม่น้อย เพราะสมัยนี้ของเล่นไม่ได้เล่นเพลินๆ แต่ยังเสริมพัฒนาการได้ด้วย ลองหากล่องสีสวยๆ หรือมีลวดลายที่ลูกชอบมาเก็บของเล่นเหล่านี้ เมื่อลูกหยิบของเล่นออกมาแล้ว เล่นเสร็จเมื่อใดชักชวนลูกช่วยกันเก็บของเล่นเข้าที่ด้วย กล่องสวยๆ ดึงดูดให้ลูกอยากทำด้วยตัวเองได้ดี
5. นิทาน ตัว ช่วยที่ไม่ทำให้ใครผิดหวัง ไม่ว่าจะปลูกฝังเรื่องอะไร นิทานเป็นสื่อการสอนที่ได้ผลเสมอ เลือกนิทานที่มีเนื้อหาดีๆ สอดแทรกเรื่องของระเบียบวินัยมาอ่านให้ลูกฟังรูปภาพน่ารักๆ สีสันสดใสดึงความสนใจให้ลูกได้ไม่ยาก ควรพูดคุยกับลูกเป็นระยะ ลองตั้งคำถาม แล้วให้ลูกตอบ แล้วอธิบายสิ่งที่ถูกต้องให้ลูกฟัง
6. เข้าครัว งาน ครัวสร้างความตื่นตาให้เด็กๆ ได้แบบไม่ต้องสงสัย เมื่อไหร่ที่คุณแม่อนุญาตให้ก้าวเข้ามาในห้องนี้ เหมือนกับเด็กๆ ก้าวเข้ามาให้โลกแห่งเวทมนตร์ ไม่น่าแปลกที่เด็กๆ จะช่วยทำโน่นทำนี่ ไม่ว่าจะเตรียมอาหาร หรือเก็บกวาดและทำความสะอาดอย่างสนุกสนานและเต็มใจเป็นที่สุดฝึกวินัยให้ได้ ผล
แนะนำกิจกรรมไปแล้ว คราวนี้มาเสริมเทคนิคเข้าไปอีกนิดเพื่อผลลัพท์ที่ดีกว่าค่ะ
ต้องสำรวจความพร้อมของลูก แล้วจะสำรวจอย่างไร ก็ดูจากพัฒนาการของลูกเรานี่ล่ะ เลือกการฝึกที่เหมาะกับพัฒนาการและสอดคล้องกับธรรมชาติของลูก และค่อยๆ สร้างเงื่อนไขเพิ่มขึ้นตามวัย
ให้รางวัล ทุกครั้งที่ลูกทำได้ตามที่บอก อย่าลืมให้รางวัลลูกด้วย เป็นการเสริมแรงให้ลูกทำพฤติกรรมนั้นๆ ต่อไป แต่รางวัลที่ว่าไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งของหรอกค่ะ เพราะที่ลูกต้องการยิ่งกว่า คือ คำกล่าวชม การโอบกอด รวมถึงการสบตาสื่อสารว่าคุณรักลูกมากเพียงใด
ทำอย่างสม่ำเสมอ ตัวแปรสำคัญอีกตัวหนึ่ง ที่อาจเป็นตัววัดว่าการฝึกวินัยของคุณแม่ครั้งนี้จะได้ผลหรือไม่ หากคุณปฏิบัติกับลูกอย่างสม่ำเสมอ มีความต่อเนื่องและไม่ขาดตอนลูกก็จะซึมซับสิ่งที่คุณคอยพร่ำสอน แต่หากทำบ้างไม่ทำบ้าง แล้วแต่สภาพการณ์หรือโอกาสแล้วล่ะก็ ยากที่ลูกจะเรียนรู้เรื่องวินัยอย่างได้ผล
เป็นแบบอย่าง ใช่ว่าการพูดและสื่อสารกับลูกถึงสิ่งที่ลูกควรทำเพียงอย่างเดียวจะได้ผล คุณเองควรเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูก สอนไปทำไป เพื่อให้ลูกเห็นว่าทำอย่างไร แบบไหนเรียกว่าดีและได้รับการยอมรับ พูดแล้วไม่ทำ แล้วคุณจะคาดหวังให้ลูกเข้าใจสิ่งที่สอนได้อย่างไรจริงไหมคะ
อดทน ไม่ว่าคุณจะสอน จะบอกให้ลูกทำอะไร ลูกต้องอาศัยการเรียนรู้ ค่อยๆ เป็นไปทีละขั้น บางครั้งกว่าจะได้อย่างที่คุณคาดหวังอาจต้องใช้เวลาอยู่สักหน่อย คุณจึงต้องอดทนไม่โมโห อารมณ์เสียใส่หรือดุว่าลูก เพราะแทนที่จะทำให้ลูกเข้าใจกฎระเบียบและการกระทำนั้นๆ กลับจะยิ่งต่อต้านและไม่ทำตามอีกต่างหาก
สื่อสารพูดคุย ทำความตกลงร่วมกันถึงขอบเขตของสิ่งที่ทำได้และไม่ได้ เวลาที่ลูกไม่เป็นไม่ตามที่ตกลง ต้องมีวิธีตักเตือน ใช้น้ำเสียงที่หนักแน่น ให้ลูกรับรู้ว่าสิ่งที่ทำอยู่ไม่ถูกต้องแต่ไม่ถึงกับเป็นการข่มขู่นะคะ เพราะจะทำให้ลูกยิ่งกลัวไปกันใหญ่
นอกจากนี้ การฝึกวินัยกับลูกให้ได้ผลดี เรื่องความสนุกลืมไม่ได้เลยนะคะ เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ช่วยให้ลูกยอมรับและทำตามกฎเกณฑ์ที่ตั้งไว้ เมื่อลูกสนุกแล้วก็จะมีความสุขกับสิ่งที่ทำด้วยค่ะ วินัยไม่ใช่เรื่องยากสำหรับเด็กๆ หากพ่อแม่รู้เทคนิคที่เหมะสมก็สามารถแปรเปลี่ยนกิจวัตรประจำวันให้กลายเป็น กิจกรรมสุดหรรษาที่สอนเรื่องวินัยควบคู่ไปกับการเล่นได้อย่างกลมกลืน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ฉบับเดือนมิถุนายน 2552
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็นกันแล้ว อย่าลืมใส่ชื่อด้วยนะ จะได้รู้ว่าใครจ้า